การประมงนำจืด

กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergii อยู่ในวงศ์ Palaemonidae มีเปลือกสีเขียวอมฟ้าหรือม่วง ก้ามยาวมีม่วงเข้ม ตลอดทั้งก้ามมี ปุ่มตะปุ่มตะปา โดยธรรมชาติจะอยู่ในแม่น้ำลำคลอง แทบทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย วางไข่ในน้ำกร่อยที่เค็มจัด อาหารได้แก่ ไส้เดือน ตัวอ่อนของลูกน้ำ ลูกไร ลูกปลาขนาดเล็ก ซากของสัตว์ต่าง ๆ และในบางโอกาสก็กินพวกเดียวกันเอง พบชุกชุมทำให้จับง่าย โดยเฉพาะในฤดูหนาว ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง กุ้งก้ามกราม มีความยาวประมาณ 13 ซม. พบใหญ่สุดถึง 1 ฟุต น้ำหนักเป็นกิโล เป็นกุ้งที่ถูกใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ เผา หรือ ทอด เป็นต้น เพราะเนื้อมีมาก เนื้อแน่น มัน อร่อย ทำให้มีราคาที่ขายสูง ปัจจุบัน ยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงามด้วย กุ้งก้ามกรามมีชื่อเรียกที่ต่างออกไป มากมาย เช่น กุ้งแม่น้ำ กุ้งหลวง ขณะที่กุ้งตัวเมียที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า เรียกกุ้งนาง เป็นต้น ตัวที่มีขนาดใหญ่เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทย เป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีราคาแพง เนื้อมีรสชาติดีสามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอด พล่า ยำ อบ หรือแปรรูปตามความนิยมของผู้บริโภค การแพร่กระจาย มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปเอเชียตอนใต้ เช่น ประเทศไทย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ตลอดจนหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และในประเทศไทยพบกุ้งก้ามกรามแพร่กระจายทั่วไปในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำปาง ปะกง แม่น้ำปราณบุรี และลำคลองต่าง ๆ ที่ติด กับแม่น้ำ ส่วนมากพบแถวจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออกพบที่แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำระยอง จ.ระยอง แม่น้ำเวฬุ จ.ตราด ภาคเหนือเคยพบที่แม่น้ำเมย จ.ตาก เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งไหลลงสู่ประเทศพม่า ส่วนที่ภาคใต้พบที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปัตตานี พัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช และทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา ส่วนที่แม่น้ำมูลปัจจุบันมีปริมาณมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นพื้นที่แหล่งดั้งเดิมของกุ้งชนิดนี้ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากทางกรมประมงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจังหวัดอุบลราชธานีทำการศึกษาและพัฒนาพันธจนสามารถนำปล่อยลงสู่แม่น้ำธรรมชาติและเจริญเติบโตจนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวลุ่มน้ำมูลในขณะนี้ ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ จัดตั้ง “หน่วยวิจัยและพัฒนาทรัพยากรประมงน้ำจืดเขื่อนปากมูล” ในปี 2546 เพื่อพัฒนาการประมงในเขื่อนปากมูลและส่งเสริมรายได้ชาวประมง การพัฒนาประมงในเขื่อนปากมูลแบ่งเป็น 2 แนวทาง 1) เพิ่มผลผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจให้เป็นรายได้ชาวประมง 2) ดำรง ความหลากหลายทางชีวภาพในเขื่อนปากมูลและลำน้ำมูลตอนล่าง การเพิ่มผลผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจได้เพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามและปลาเศรษฐกิจปล่อยในลำน้ำมูลตั้งแต่ปี 2546 โดยปล่อยกุ้งก้ามกราม ปีละ 40 ล้านตัว ปล่อยปลาเศรษฐกิจ ปีละ 10.5 ล้านตัว เช่น ปลาเทโพ ปลากดเหลือง ปลาสวาย เป็นต้น จากการเก็บข้อมูลของกรมประมง ปี 2548 ชาวประมงจับกุ้งก้ามกรามได้มากกว่า 9 หมื่นกิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 35 ล้านบาท ปี 2549 ชาวประมงจับกุ้งกามกราม ได้มากกว่า 1 แสนกิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 41 ล้านบาท ส่วนแรกการปล่อยกุ้งก้ามกราม ที่ผ่านมาได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับการเปิดเขื่อนและปิดเขื่อน ซึ่ง ครม. เคยมีมติให้ปิดเขื่อน 8 เดือน และเปิดเขื่อน 4 เดือน ดังนั้น จึงปล่อยกุ้งก้ามกราม และพันธุ์ปลาหลังปิดเขื่อน 2 เดือน เพื่อให้สัตว์น้ำ โตทันให้ชาวประมงจับก่อนเปิดเขื่อนอีกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นกุ้งก็จะว่ายน้ำไปอยู่ในแม่น้ำโขงหมด ทั้งนี้ได้เลือกพื้นที่ที่มีพงหญ้าและต้นไม้ขึ้นรกทึบเพื่อ ให้ลูกสัตว์น้ำมีที่หลบซ่อนตัว โดยการนำเรือออก ไปปล่อยตามจุดที่ได้เลือกไว้ตลอดลำน้ำมูล เพื่อให้ชาวประมงได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ทั้ง 8 อำเภอ สองฝั่งลำน้ำมูลตอนล่าง การที่กรมประมงปล่อยกุ้งก้ามกรามในลำน้ำมูลตอนล่าง ได้ก่อให้เกิดอาชีพประมงใหม่ในการจับกุ้งก้ามกรามขาย ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ไม่มีในภาคอีสาน เพราะภาคอีสานไม่มีทางเชื่อมต่อทะเลจึงไม่มีกุ้งก้ามกรามตามธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำชาวประมงใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านประเภท เบ็ด เบ็ดราว จั่นดักกุ้ง ข่าย ลอบ เป็นต้น เป็นการจับสัตว์น้ำแบบอนุรักษ์ แต่ก็ยังมีอยู่เช่นกันที่ทำประมงแบบผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมติการเปิดปิดเขื่อนได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องกำหนดช่วงเวลาในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปิดปิดเขื่อนต่อไป